อนาคตพลังงานทางเลือกในสายตาคนเกาะยาว

วันนี้เรามีโอกาสดีที่ได้มาคุยกับท่านกำนันบัญญัติ ศรีสมุทร กำนันตำบลเกาะยาวน้อยค่ะ คนเกาะยาวเรียกท่านว่า กำนันบ้าง บังหรีดบ้าง ในฐานะที่กำนันเป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่คอยดูแลทุกข์สุขของคนเกาะยาวน้อยมา ยาวนาน ท่านเป็นคนเกาะยาวที่สะท้อนให้เห็นถึงอัธยาศัยที่ดีของคนเกาะยาวแท้ๆ ท่านพูดคุยกับเราอย่างเป็นกันเองมากๆ ด้วยรอยยิ้มกว้างแบบคนใต้ กำนันบัญญัติแสดงทัศนะเรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้าบนเกาะยาวน้อยรวมทั้งความสนใจและประสบการ์ณของกำนันในการศึกษาเรื่องพลังงานทางเลือกด้วยตนเองและความคาดหวังที่กำนันไม่อยากเห็นและสิ่งที่อยากเห็นของเกาะยาวในอนาคตต่อๆไปด้วยค่ะลองติดตามกันนะคะ

ก่อนอื่นรบกวนกำนันแนะนำตัวเองสักนิดค่ะ
>>> ผมบัญญัติ ศรีสมุทร กำนันตำบลเกาะยาวน้อยครับ ผมเป็นกำนันอยู่เกาะยาวน้อยมานานประมาณยี่สิบปีแล้วครับ

กำนันพอจะมีข้อมูลมั้ยคะ ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวเข้ามาเกาะยาวน้อยประมาณปีละเท่าไหร่
>>> ปีละน่าจะเป็นแสนนะครับ

6612

แล้วประชากรบนเกาะยาวน้อยมีประมาณเท่าไหร่คะ ช่วยเล่าวิถีชีวิตของชาวเกาะยาวน้อยคร่าว ๆ

>>> ประมาณ 5,000 กว่าคนครับ ถ้ารวมประชากรแฝงด้วยก็ประมาณ 6,000 คน คนเกาะยาวเดิมๆ ก็เป็นคนที่ว่าอพยพมาจากจังหวัดตรังนะครับ ก็คิดว่าวิถีชีวิตตรงนี้คือเป็นวิถีชีวิตไทยมุสลิมส่วนใหญ่ คนเกาะยาวน้อยคือเป็นมุสลิมประมาณ 99% ก็มีคนที่เป็นศาสนาพุทธประมาณ 1% ส่วนมากก็เป็นราชการหรือว่าพนักงานโรงแรม และคนดั้งเดิมตั้งแต่โบราณมา ก็มีบ้านอยู่สองสามหลัง

ถ้าพูดถึง Highlight สถานที่ท่องเที่ยวในเกาะยาวน้อย อยากให้กำนันช่วยแนะนำด้วยค่ะ

>>> เกาะยาวน้อยเป็นเกาะที่ว่าอยู่กลางอ่าวพังงานะครับ การท่องเที่ยวสามารถมาได้ทั้ง 3 จังหวัดคือ จังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ก็เหมือนเป็นไข่แดงของอ่าวพังงา ที่เกาะยาวมีจุดเด่นก็คือความเป็นธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์ นักท่องเที่ยวมาเพื่อพักผ่อนมาดูธรรมชาติที่ว่ายังสมบูรณ์ ไม่ได้เป็นเมืองที่ว่ามีสิ่ง entertain มาก ๆ แต่เป็นการขายการท่องเที่ยวที่เป็นวิถีชีวิตของคนเกาะยาว แล้วเป็นธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ครับ

2
3
1
3
e1593426869918

 เราคุยกับท่านกำนันต่อในเรื่องการใช้พลังงานไฟฟ้าบนเกาะยาวน้อย เนื่องจากบนเกาะยาวมีภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับการยอมรับ เป็นชุมชนที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย มีการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชนในรูปแบบโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวมาใช้ชีวิตความเป็นอยู่ร่วมกันคนในชุมชน มาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมง วิถีชีวิตชาวไทยมุสลิม การทำนา การดำน้ำดูปะการัง ปั่นจักรยานเล่นรอบเกาะ ฯลฯ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชนชาวเกาะ ยาวน้อย และได้จัดทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จนได้รับรางวัลมากมาย

8291

ทราบมาว่าไฟฟ้าที่ใช้อยู่ เป็นการเดินสายมาจากภูเก็ต กว่าจะได้ไฟมา ก็ต้องเจรจาหลายฝ่ายไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

 >>> ครับประมาณยี่สิบปี เพราะว่าตอนเคเบิลลงเกาะยาว ตอนนั้นมีปัญหาฝั่งภูเก็ตไม่ให้ลงเกาะยาว ชาวบ้านบริเวณที่ว่าไฟฟ้าลงกลัวเกิดไฟฟ้ารั่วอะไรผ่านทะเลภูเก็ต ผมก็พาไฟฟ้าเขตไป พาชาวบ้านไป คุยกับฝั่งโน้น ทำความเข้าใจกัน ก็ตกลงให้ผ่านมาประมาณเกือบยี่สิบปีนะครับ ตอนนั้นผมก็ดูแลเรื่องนี้ด้วยได้งบจากรัฐบาลมา สส.หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตอนนั้นให้งบประมาณมา แต่ว่าการเคลียร์พื้นที่ผมก็เข้าไปเคลียร์ด้วย

ตอนนี้ที่เกาะยาวน้อยยังมีปัญหาไฟติด ๆ ดับ ๆใช่มั้ยคะ

>>> มีครับเวลาเกิดพายุ ต้นไม้ล้มก็ล้มพัดสายไฟ ก็ไฟดับ บางทีไฟตก ไฟไม่คงที่ เพราะว่าบางทีอาจจะเป็นปลายสายก็ได้มันเดินทางมาไกล ไฟไม่สมบูรณ์บ้าง โวลท์ไม่พอ จากสองร้อยยี่(220 โวลต์) ก็อาจจะเหลือร้อยเก้าสิบ สองร้อย (190-200 โวลต์) แต่บางจุดอยู่ใกล้หม้อแปลงกำลังไฟก็อาจจะสูง ตอนนี้เค้าเพิ่มหม้อแปลง เพิ่มกำลังวัตต์ให้ ค่อยยังชั่วขึ้น แต่ว่าถ้าว่าภูเก็ตไฟดับ เกาะยาวก็เดือดร้อน เกาะยาวบางทีก็ดับเป็นวัน เพราะการไฟฟ้าก็ต้องมีปรับปรุง มันมีปัญหาเรื่องไฟฟ้า

2019

จากปัญหาเรื่องนี้กำนันเคยคิดถึงพลังงานทางเลือกมั้ยคะ

>>> ก็คิดนะ อย่างพลังงานทางเลือก ผมก็พยายามศึกษาทางอินเตอร์เน็ตนะครับ ทาง YouTube อะไรต่างๆก็สนใจมากเรื่องนี้ แต่ว่าปัญหาอยู่ที่ค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูง แต่ว่าต่อไปมันก็ฟรีตลอด คนที่ทำได้ส่วนมากเค้าจะพอมีเงินสักนิดแต่ว่าถ้าใช้แสงสว่างที่ไม่ได้ใช้มากๆคงจะลงทุนไม่กี่บาท

ผมเองก็ได้ทดลองใช้ที่จุดเช็คอินของในนา ใช้สปอร์ตไลท์จากโซลาเซลล์
ตอนนี้ก็ยังใช้อยู่ 1,000 กว่าบาท ก็ใช้ได้ดีนะครับ ใช้มาปีกว่าแล้วไม่มีปัญหาอะไร

134

กำนันเองเคยทดลองโซลาร์เซลล์เซลล์ด้วยตนเองมาแล้ว กำนันช่วยเล่าถึงตอนที่กำนันลองค้นหาข้อมูลแล้วตัดสินใจเลือกโซลาร์เซลล์เซลล์มาทดลองใช้ค่ะ

>>> ตอนแรกผมคิดที่ว่าผมไปสร้างจุดเช็คอินที่ว่าศูนย์ OTOP ของหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี ก็เลยไปสร้างกลางทุ่งนาเป็นของหมู่บ้านกลางทุ่งนา ไปสร้างแล้วต้องการไฟ ก็เลยคิดว่าทำยังไงให้ได้ใช้ไฟได้ ตอนแรกพ่วงไฟมาจากโรงสีข้าว ก็ใช้ได้ แต่ว่าต้องพึ่งพาอาศัยเขา แต่ปัญหาเรื่องแสงสว่างตอนกลางคืนเพราะเราไม่ได้อยู่เฝ้าตรงนั้น ก็ต้องมีแสงสว่างคอยดูแล พอใช้โซลาร์เซลล์เต็มก็ไม่ต้องเสียค่าไฟ กำลังคิดว่าจะทำยังไงให้ใช้ได้มากกว่านี้ ดูราคามันก็สูงใช้ได้ก็เลยยังหางบประมาณไม่ได้ถ้าหางบประมาณได้ก็คิดว่าจะทำให้มันสมบูรณ์แบบ ผมคิดเรื่องติดแผงโซลาร์เซลล์แล้วว่าไม่มีปัญหาอะไร กลางทุ่งนามันรับเต็มอยู่แล้ว ไม่ว่าทิศทางของแดด อะไรมันทำได้หมด แต่ว่าขาดที่งบประมาณอย่างเดียว ต้องค่อยๆสะสมแล้วค่อยสร้าง

4

กำนันพูดถึงว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะกำนันเห็นความเปลี่ยนแปลงของเกาะยาวน้อยมานานแล้วความคาดหวังที่กำนันอยากเห็นเกาะยาวในอนาคตต่อๆไป

>>> ผมเห็นมาตลอดครับ ผมกลัวว่าพอหมดรุ่นผมไปอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง อย่างเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามามาก อาจจะเปลี่ยนวิถีชีวิต อาจจะเป็นไปได้นะครับตรงนี้

2

ย้อนไปจากนี้ สักประมาณปีพ.ศ.2549 – 2550 นะครับ ประมาณสิบปีแล้ว เรามีคณะที่ปรึกษาตำบลเคยพาไปแลงาน ประกอบด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เทศบาล นายกเทศบาล สมาชิกอบต.กลุ่มงานต่างๆ ในเกาะยาว เรามาปรึกษาเรื่องเกาะยาวว่ามีปัญหาอะไร ทิศทางของเกาะยาวให้ไปทางไหน ก็ทำทุกอย่าง ไม่ว่าเรื่องปัญหาสังคม ปัญหาขยะ หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราไปแลงานที่เกาะสมุย ไปแลงานที่เกาะช้าง เราแลแล้วว่าเกาะยาว..อยากให้เป็นแบบเกาะยาว ก็เลยคิดตั้งแต่นั้นมาว่าเกาะยาวของเราไม่อยากให้การท่องเที่ยวที่ว่ามันเจริญรวดเดียวมาเลยไม่อยากจะให้มีเฟอรี่เข้ามาในเกาะยาว ที่รถมามากๆ พอไปที่เชวงผมเห็นแล้วกว่าจะได้ข้ามถนนรถวิ่งไปวิ่งมาลำบากถ้าเกาะยาวเราเป็นแบบนั้นคนก็ไม่มาเที่ยวไม่มีความปลอดภัยมันไม่ใช่เกาะยาวมันต้องอยู่อีกแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนที่อื่น

เลยคิดทำผังของเกาะยาว ทำโซนนิ่ง จากโซนนิ่ง เราจะทำเพื่ออนาคตไม่ให้การท่องเที่ยวเจริญจนเกินไป เราก็เลยวางโซนนิ่งหนึ่งไว้คิดว่าตรงนี้ให้เป็นอะไร ตรงนั้นให้เป็นอะไร วางกฎชุมชนอะไรต่างๆ เริ่มจากตรงนั้นครับถ้าเราไม่คิดตอนนั้นตอนนี้คงไปไกลแล้ว ก็เลยเมื่อเราคิดเรื่องนี้ขึ้นมาการเจริญเติบโตก็ไม่กระโดดไปเรื่อยๆ ตอนวางโซนนิ่งเรามีการคุยกับชาวบ้าน ตัวแทนชาวบ้านทั้งเกาะเลยมาคุยกันไม่ว่าเป็น อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มอาชีพต่างๆ ตัวแทนกลุ่มต่างๆ ในเกาะยาวมาคุยกันว่าโซนนี้สมควรให้มีอะไร ส่วนนี้ไม่สมควรให้มีอะไร โซนในทุ่งนาเราไม่สนับสนุนไฟฟ้าให้เข้าไป เพราะถ้าไฟฟ้าเข้าไปจะก่อสร้างบ้านเป็นแถว ทำให้นาสูญหายไป เสียทัศนียภาพ เสียความเป็นเกาะยาวที่ว่ามีทุ่งนาเป็นจุดขาย ไม่อยากให้มีการสร้างโรงแรมในทุ่งนา โรงแรม รีสอร์ท ห้องแถว อะไรต่าง ๆ เราวางมาตั้งแต่โน้น ปัจจุบนสามารถผลักดันไปเป็นผังเมืองรวมได้แล้วเป็นกฎหมายแล้ว ตอนนี้ถือว่าเราทำสำเร็จแล้ว

กำนันบัญญัติหรือบังหรีด แห่งเกาะยาวน้อย จบบทสนทนาด้วยน้ำเสียงแห่งความภาคภูมิใจที่อย่างน้อยกำนันก็เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมสร้างอนาคตของเกาะยาวน้อยให้ยังคงรักษาความเป็นเกาะยาวน้อยที่กำนันย้ำว่าต้องไม่เหมือนที่อื่น ที่ความเจริญได้เข้ามาทำให้หลายสิ่งหลายอย่างสูญหายไปในที่สุด

ขอบคุณภาพจากบทความ 7 ที่เที่ยวเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา สวยขนาดนี้ไม่ไปได้ไง! https://travel.mthai.com/blog/156509.html

“ เกาะยาวของเราไม่อยากให้การท่องเที่ยวที่ว่ามันเจริญรวดเดียวมาเลย ไม่อยากจะให้มีเฟอรี่เข้ามาในเกาะยาว ที่รถมามาก ๆ …ถ้าเกาะยาวเราเป็นแบบนั้น คนก็ไม่มาเที่ยว ไม่มีความปลอดภัย มันไม่ใช่เกาะยาว มันต้องอยู่อีกแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนที่อื่น ..เราแลแล้วว่าเกาะยาวอยากให้เป็นแบบเกาะยาว “

บัญญัติ ศรีสมุทร กำนันตำบลยาวน้อย